เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2556 สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศ(The Convention on Wetlands of International Importance / Ramsar Convention) ได้ลงนามขึ้นทะเบียนเกาะระ – เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา และเกาะกระ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 13 และ 14
ในส่วนของพื้นที่เกาะระ – เกาะพระทอง มีสองหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบอยู่ คือกองทัพเรือ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานดังกล่าวได้ร่วมกันดูแลป่าชายเลนบริเวณนี้จนอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งหลังจากทั้งสองเกาะได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแล้ว ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการหาข้อสรุปเพื่อวางแผนจัดการรักษาความอุดมสมบูรณ์และการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด รวมทั้งมีการหามาตรการป้องกันไม่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงการรักษาความสมดุลในระบบนิเวศน์
มาทำความรู้จักกับพื้นที่ชุ่มน้ำกันเถอะ
พื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร?
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) ในประเทศไทยประกอบด้วย ป่าพรุ ป่าชายเลน ทุ่งนา ทะเลสาบ หนอง บึงและแม่น้ำ
ส่วนคำจำกัดความของพื้นที่ชุ่มน้ำตามสนธิสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ให้ความหมายไว้ว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำหมายถึง พื้นที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำที่มีน้ำท่วม น้ำขัง ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและพื้นที่ของทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร”
ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ
ประโยชน์และคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นมีหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น
1. เป็นแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า
2. เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตตามธรรมชาติ
3. มีคุณค่าทางวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เช่น การตั้งถิ่นฐานและวิถีชีวิต
4. มีความสำคัญต่อการคมนาคม ก่อให้เกิดมลพิษน้อย
5. เป็นแหล่งประกอบอาชีพ เช่นปลูกข้าว เลี้ยงปลา
6. เป็นแหล่งอาศัยของผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลบภัยสืบพันธุ๋ วางไข่ อนุบาลตัวอ่อนของนกและสัตว์น้ำต่าง ๆ
7. ทำหน้าที่ดักจับตะกอนและสารพิษ จึงช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศโดยรอบ
8. เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
9. เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยทางธรรมชาติ
ความสำคัญของการศึกษาและวางแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ(Wetlands)ในประเทศไทย
ทั่วประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำใหญ่น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนมาแล้วที่คนในสังคมไทยทั้งในเมืองและในชนบท ต่างมีวิธีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยและผูกพันกับพื้นที่โดยผลประโยชน์ที่ผู้คนสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องยาวนานจากพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาตินั้นอาจแตกต่างกัน ทว่าสิ่งที่เหมือนกันคือพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้นยังผลประโยชน์ให้เกิดแก่ชุมชนและผู้คนในสังคมเป็นจำนวนมากโดยแทบไม่ต้องซื้อหา และด้วยเหตุนี้เองกลุ่มบุคคลบางคน บางคณะ รวมถึงคนที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากพื้นที่ชุ่มน้ำ อาจไม่ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ได้รับมาฟรี ๆ
ในปัจจุบันนี้เป็นที่น่าหวาดวิตกเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยได้ถูกทำลายไปแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือก็กำลังถูกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรมหรือถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุสำคัญได้แก่
1. การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น จำนวนประชากรที่มีมากขึ้น อัตราความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่มสูงขึ้น หรือมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
2. การใช้ประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เช่น การระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม การชักน้ำเค็มเข้ามาในแผ่นดิน เพื่อ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขุดถมพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรม การขยายเมือง การพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชน การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยา และการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ เช่น การสร้างถนน ตลอดจนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศรวมทั้งระบบ ที่สำคัญที่สุด คือมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตประจำวันของชุมชนในท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำ
แม้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญและมีบทบาทหน้าที่มากมายดังกล่าวแล้วข้างต้น ทว่าสังคมไทย ซึ่งหมายรวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท ยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงพอ ในคุณลักษณะทางธรรมชาติของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และขาดความตระหนัก ถึงบทบาทหน้าที่ คุณค่าและคุณประโยชน์ที่ครบถ้วนแท้จริงของพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเป็นผลให้เกิดปัญหาการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ขาดความระมัดระวังและใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม นอกจากนั้นยังมีความไม่สอดคล้อง ขาดการประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน ในการจัดการพื้นที่และในหลายกรณีกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้องไม่มีประสิทธิผลในการบังคับใช้และไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน
การศึกษาและการวางแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ในรูปแบบของโครงการนำร่องจึงจำเป็นต้องกระทำโดยรีบด่วน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง และให้ได้มาซึ่งแนวทางตัวอย่างในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่กำลังถูกคุกคาม ต่อไป
Reference : เรียบเรียงจาก www.seub.or.th โดยดร.ศันสนีย์ ชูแวว
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล